ขนมโค ขนมพื้นบ้านชาวปักษ์ใต้ คล้ายขนมต้มขาวของคนภาคกลาง เชื่อว่าเป็นขนมโบราณที่ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ขนมโคยังมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาตร์กับพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนาน จากความเชื่อของคนพื้นถิ่นที่ว่า ขนมโค เป็นขนมมงคล ใช้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือทั้งผี-พราหมณ์-พุทธ เช่น หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระพิฆเณศ เป็นต้น
และคงไม่แปลกอะไร ที่ชาวบ้านจึงได้นำวัสดุท้องถิ่นมาทำเป็นขนมเพื่อบูชา แทนการใช้ขนมลาดูที่ชาวอินเดียบูชาองค์พิฆเณศ ซึ่งทางปักษ์ใต้เอง ก็มีขนมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ขนมดู ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาล มะพร้าว เช่นเดียวกับขนมลาดู
แต่ขนมดูนั้นยังไม่อยู่ในความรับรู้ว่า สามารถนำมาใช้บูชา บนบานองค์พิฆเณศได้หรือไม่ หรืออาจไม่เป็นที่นิยมเพราะไม่อร่อยเหมือนกับขนมโค ซึ่งได้รับความนิยมสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันมากกว่า ทำให้ความรับรู้นั้นคลี่คลาย และลืมเลือนไป
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ทางประวัติศาตร์ของขนมโคกับพื้นถิ่นใต้นั้นน่าจะสืบเนื่องมาจาก บริเวณคาบสมุทรภาคใต้ ในอดีตเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าระหว่างโลกตะวันออก(จีนเป็นหลัก)-ตะวันตก(อินเดีย อาหรับ โรมัน)
เกิดเป็นชุมชนสถานีการค้าเมืองท่าทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บรรดาพ่อค้าจากอินเดียและจีนเดินเรือเลียบชายฝั่งมาแลกเปลี่ยนสิ่งของ ตั้งถิ่นฐาน เช่นเมืองตะโกลา (Takola) หรือตะกั่วป่า เมืองไชยา แหลมโพธิ์ สุราษฎร์ธานี ตามพรลิงค์ นครศรีธรรมราช ซิงก่อร่า สงขลา(บริเวณคาบสมุทรสทิ้งพระ)
ในการเข้ามาของพ่อค้านัก บวช(พราหมณ์-พุทธ)จากอินเดียนั้น ได้นำลัทธิ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ เข้ามาเผยแพร่ เกิดการผสมผสานกับความเชื่อพื้นถิ่น(ผี) ความเชื่อเหล่านี้ได้ฝังหยั่งรากลึกลงบบผืนดินแห่งคาบสมุทร กลายเป็นวัฒนธรรมความเชื่อ การเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนถึงรูปแบบพิธีกรรมเฉพาะถิ่นใต้ขึ้น เช่นการบนบานองค์พิฆเณศ ด้วยขนมโค เป็นต้น